บทคัดย่อ
ปัจจุบันการรักษาเนื้องอกด้วยวิธีการดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัดยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยหายหรือมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นด้วยข้อจำกัดของยาเคมีบำบัดที่ไม่มีความจำเพาะกับเซลล์เนื้องอก ทำให้ยาจะไม่ทำลายเฉพาะเซลล์เนื้องอก แต่จะทำลายเซลล์ปกติด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจึงทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ บทความนี้จึงรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับระบบนำส่งยาสู่เซลล์เนื้องอกเป้าหมาย (Tumor-targeted drug delivery system) ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวิธีการรักษาเนื้องอกเพื่อให้ยามีความจำเพาะกับเซลล์เนื้องอกมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของยาเพิ่มขึ้น และผลข้างเคียงน้อยลง โดยระบบนำส่งยาสู่เซลล์เนื้องอกเป้าหมาย มักจะนำอนุภาคนาโน (Nanoparticle) มาใช้เป็นตัวพา (Carrier) ที่สามารถบรรจุยาเคมีบำบัดเข้าไปกลายเป็นระบบนำส่งยา เมื่อบริหารเข้าไปในร่างกาย ระบบนำส่งยาจะเคลื่อนที่ไปตามกระแสเลือดเพื่อไปยังเซลล์เนื้องอกเป้าหมายได้ด้วยกลไกการนำส่งที่แตกต่างกันขึ้นกับการออกแบบและพัฒนา ซึ่งได้แก่ 1) การนำส่งยาสู่เนื้องอกเป้าหมายได้เอง (Passive targeting) ที่จะอาศัยหลักการ Enhanced permeability and retention (EPR) effect ในการนำส่งยา 2) การนำส่งยาสู่เนื้องอกเป้าหมายอย่างจำเพาะ (Active targeting) ที่จะอาศัยการเกิดอันตรกิริยาระหว่างลิแกนด์ (Ligand) กับตัวรับ (Receptors) ที่เกิดได้อย่างจำเพาะเจาะจง 3) การนำส่งยาสู่เนื้องอกเป้าหมายโดยอาศัยปัจจัยกระตุ้นภายในร่างกาย (Endogenous stimulus-responsive targeting) ซึ่งจะอธิบายถึงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) เอนไซม์ (Enzyme) และ Reductive environment 4) การนำส่งยาสู่เนื้องอกเป้าหมายโดยอาศัยปัจจัยกระตุ้นภายนอกร่างกาย (Exogenous stimulus-responsive targeting) ซึ่งปัจจัยกระตุ้นภายนอกร่างกายมีหลายชนิด เช่น แสง อุณหภูมิ สนามแม่เหล็ก เป็นต้น โดยกลไกประเภทนี้จะไม่ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความนี้