บทคัดย่อ
มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของมะเร็งทางเดินน้ำดีทั้งหมดทั่วโลก อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละภูมิภาคของโลก ในประเทศทางตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีอัตราการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.3-3.5 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ขณะที่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น ประเทศไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา มีอัตราการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีสูงกว่ามาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียง เหนือของประเทศที่ประชาชนส่วนมากมีพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดดิบ ซึ่งเป็นพาหะของพยาธิใบไม้ตับ อุบัติการณ์ในภาคนี้อาจสูงถึง 85 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยเฉพาะในจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า ในประเทศไทยมะเร็งท่อน้ำดีเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินน้ำดี โดยมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 14,000-20,000 รายต่อปี และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากมะเร็งในชายและหญิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ