บทคัดย่อ
ภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) และโรคอ้วน (obesity) คือ ภาวะที่มีไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพสะสมในร่างกายมากเกินปกติ โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) มากกว่าเท่ากับ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในภาวะน้ำหนักเกิน และมากกว่าเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในโรคอ้วน1 แต่สำหรับคนเชื้อชาติเอเชียจะกำหนดค่าดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่าคือ 23 ถึง 24.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในภาวะน้ำหนักเกิน และมากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในโรคอ้วน2 ในประเทศไทยมีค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ย 22.6 กิโลกรัมต่อตารางเมตร พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย3 เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพได้ ภาวะน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังมากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งบางชนิดได้4 จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปีพ.ศ. 2548 ถึง 2557 พบว่าภาวะน้ำหนักเกิน และภาวะอ้วนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ7
การกำหนดขนาดของยาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่คำนวณจากพื้นที่ผิวของร่างกาย (body surface area; BSA) เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น5 แต่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการคำนวณยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ในทางปฏิบัติการคำนวณขนาดยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะน้ำหนักเกิน จะคำนวณโดยจำกัด BSA ไม่เกิน 2 ตารางเมตร หรือคำนวณจากน้ำหนักในอุดมคติ (Ideal body weight; IBW) หรือ น้ำหนักที่ได้จากการปรับ (Adjust body weight; AjBW) แทนน้ำหนักจริงของผู้ป่วย4 (ตารางที่ 1) ซึ่งการพิจารณาขนาดยาต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการรักษา ชนิดของยาเคมีบำบัด ความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา สภาวะร่างกาย และโรคร่วมของผู้ป่วยด้วย อย่างไรก็ตามการคำนวณขนาดยาเคมีบำบัดจาก BSA ไม่เกิน 2 ตารางเมตร หรือคำนวณจากน้ำหนักในอุดมคติหรือน้ำหนักที่ได้จากการปรับ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาในขนาดต่ำกว่าการรักษา และอาจจะส่งผลต่อประสิทธิผลของการรักษาได้