บทคัดย่อ
โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลก เกิดจากการสูญเสียมวลกระดูกและเสื่อมสภาพของโครงสร้างระดับจุลภาคของกระดูก โดยโรคนี้มีลักษณะเป็น "ภัยเงียบ" เนื่องจากไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยมักละเลยการดูแลสุขภาพกระดูก ในประเทศไทย อุบัติการณ์การเกิดโรคกระดูกพรุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัว โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะบางและหักง่าย โดยเฉพาะในตำแหน่งสะโพกและกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพหรือการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนอาศัยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density: BMD) และการใช้เครื่องมือ Fracture Risk Assessment Tool (FRAX) เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้สูงอายุชาย สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน ยาที่ใช้แบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ ยาต้านการสลายกระดูก เช่น bisphosphonates, denosumab และ selective estrogen receptor modulators (SERMs) และยาที่กระตุ้นการสร้างกระดูกเป็นหลักเช่น teriparatide และ romosozumab การเลือกใช้ยาต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ ความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก และผลข้างเคียงของยา การรักษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องมีเป้าหมายในการเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
คำสำคัญ
โรคกระดูกพรุน, การรักษาโรคกระดูกพรุน, ยาต้านการสลายกระดูก, ยากระตุ้นการสร้างกระดูก