บทคัดย่อ
ในทางเภสัชกรรมมีการนำการออกแบบการทดลองเชิงสถิติ (statistical experimental design) มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพสูง โดยมีข้อดีของการประหยัดต้นทุนในการศึกษา ซึ่งอาศัยหลักการออกแบบมุมฉาก (orthogonal design) ทำให้สามารถศึกษาผลของตัวแปรอิสระ (independent variable) ต่าง ๆ ที่ใช้ในตำรับหรือกระบวนการผลิตเภสัชภัณฑ์หนึ่ง ๆ ว่ามีผลต่อตัวแปรตาม (dependent variable) ได้แก่คุณสมบัติเชิงปริมาณของเภสัชภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นหรือไม่ โดยสามารถจำแนกผลของตัวแปรอิสระหล่านั้นออกจากกันได้อย่างอิสระ และเมื่อนำหลักการทางสถิติของการถดถอยพหุคูณ (multiple regression) มาวิเคราะห์ผลของตัวแปรอิสระที่มีต่อตัวแปรตามทำให้สามารถทราบถึงผลของตัวแปรเหล่านั้น ทั้งผลของอิทธิพลหลัก (main effect) และผลของปฏิสัมพันธ์ (interaction effect) ที่มีต่อตัวแปรตามว่ามีนัยสำคัญหรือไม่ และมีผลมากหรือน้อยเท่าใด และสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามกับระดับของตัวแปรอิสระที่ทำการศึกษา ในรูปสมการแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical model) ขึ้นมา จากการพิจารณาแบบจำลองดังกล่าวทำให้สามารถกำหนดค่าของตัวแปรอิสระต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามต้องการได้ บทความนี้กล่าวถึงหลักการออกแบบมุมฉาก ความหมายของอิทธิพลหลักและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบการทดลองเชิงสถิติ