หลักการและเหตุผล
“ยา” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ทุกคนในสังคมทุกระดับให้ความสำคัญ และมีการใช้ยาตลอดช่วงอายุของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม การใช้ยาอย่างถูกต้อง ให้ถูกทั้ง 5 ด้าน คือ ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกวิธี (กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ, 2562) ก็ยังคงเป็นปัญหา ทำให้ การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use, RDU) ถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็นที่สำคัญโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศไทยได้ตอบรับและพยายามหากลยุทธ์ และวิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศที่มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Country)” (กองนโยบายแห่งชาติด้านยา, 2566) ภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ถูกปลูกผังเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย เป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทย และเป็นคุณภาพมาตรฐานของบริการสุขภาพ เพื่อคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และประเทศมีระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้หน่วยบริการสุขภาพทุกระดับ ทุกสังกัด และทุกสาขา ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร้านยา ศูนย์บริการสุขภาพ ฯลฯ ร่วมกันในการให้บริการเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การใช้ยาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ กลับพบปัญหาจากการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด อาจจะโดยรู้ หรือไม่รู้ของผู้ใช้ เช่น การนำยาฆ่าเชื้อไปใช้อย่างผิดวิธ๊ หรือผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาแผนกลยุทธ์ของประเทศเพื่อลดปัญหาจากเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 (คณะทำงานประสานและติดตามการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570, 2567) หรือการนำกลุ่มยาสเตียรอยด์เข้าไปปลอมปนในผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนเกิดปัญหาจากการใช้ยา เช่น โรคไต อาการข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และหน่วยงาน หรือองค์กรทางด้านวิชาชีพเภสัชกรรมต่างๆ จัดประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ประเด็นเด่นในสถานการณ์ระบบยา (Distinctive Issue-Based on Situation of Drug System)” เพื่อเผยแพร่ และสร้างความตระหนักรู้ให้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้ง ระดมความคิดเห็นและอภิปราย บทบาท กิจกรรม และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และอนาคตของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้อง