ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 มิถุนายน 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรอบรมเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วไป ประจำปี 2568
ชื่อการประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรอบรมเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วไป ประจำปี 2568
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
รหัสกิจกรรม 1015-2-000-004-04-2568
สถานที่จัดการประชุม ห้องประชุม P21009 ชั้น 10 อาคาร 10 ปีเภสัชศาสตร์บูรพา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
วันที่จัดการประชุม 10 -11 มิ.ย. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
กลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพและบุคลากรทางการแพทย์ ๔๐ คน, เภสัชกรแหล่งฝึกภายใต้ความร่วมมือ MOU และบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ๔๐ คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 16 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันด้วยความรู้ทางการแพทย์ด้านพันธุศาสตร์ (Genomics; จีโนมิกส์) และชีววิทยาระดับโมเลกุลมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ร่วมกับเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงมีประสิทธิภาพดีขึ้นและต้นทุนต่ำลง นำไปสู่การนำเอาความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดเป็นการแพทย์แนวใหม่ที่เรียกว่า การแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) มาใช้ปรับกระบวนการ ป้องกัน วินิจฉัย และการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย งานด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำได้ขยายครอบคลุมด้านเภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics หรือ pharmacogenomics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาภาวะพหุสัณฐานของยีนที่มีผลต่อการตอบสนองของยา การเปลี่ยนแปลงยา การขนส่งยาซึ่งส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา การเกิดพิษของยา และอาการไม่พึงประสงค์ของยา ในปัจจุบันเภสัชพันธุศาสตร์มีบทบาทมากขึ้นในการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในแง่ของการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเหมาะต่อยา หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา
เพื่อให้เภสัชกรมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานในงานด้านเภสัชพันธุศาสตร์ ภาวะพหุสัณฐานของยีนที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา การเกิดพิษยา อาการไม่พึงประสงค์จากยา เภสัชพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาและขนส่งยา เภสัชพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา และเภสัชพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง การนำความรู้ทางเภสัชพันธุศาสตร์มาใช้ในการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะต่อตัวบุคคล รวมทั้งมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคนิคทางห้องปฏิบัติการในการศึกษาลักษณะภาวะพหุสัณฐานของยีนต่าง ๆ และรูปแบบการแสดงออกต่าง ๆ ที่เป็นผลจากภาวะพหุสัณฐานของยีน ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรอบรมเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วไป ประจำปี 2568 ขึ้นมา มีกำหนดการ 2 วัน ระหว่างวันที่ 10 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ในรูปแบบการประชุม ณ ที่ตั้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์กับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ รวมถึงเป็นการต่อยอดวงจรบริการการแพทย์จีโนมิกส์ไทยแลนด์ ในวงจรที่เกี่ยวกับศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ นำไปสู่การพัฒนาด้านการสาธารณสุขของประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ทำให้มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และสามารถปฏิบัติงานได้ในวงจรบริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ไทยแลนด์เพิ่มมากขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานในงานด้านเภสัชพันธุศาสตร์ ภาวะพหุสัณฐานของยีนที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา การเกิดพิษยา อาการไม่พึงประสงค์จากยา
2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถให้ข้อมูล คำปรึกษา ด้านเภสัชพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการรักษาตามแนวคิดการแพทย์แม่นยำ
3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ และส่งเสริมการเข้ารับบริการการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลหน่วยงานบริการที่รับการตรวจได้
คำสำคัญ
การแพทย์แม่นยำ เภสัชพันธุศาสตร์ เภสัชกร