ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 มิถุนายน 2568

การประชุมวิชาการ
อบรม เรื่อง การประยุกต์ใช้ Model-Informed Precision Dosing (MIPD) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาสำหรับเภสัชกรและบุคลลากรทางการแพทย์
ชื่อการประชุม อบรม เรื่อง การประยุกต์ใช้ Model-Informed Precision Dosing (MIPD) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาสำหรับเภสัชกรและบุคลลากรทางการแพทย์
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รหัสกิจกรรม 1003-2-000-020-06-2568
สถานที่จัดการประชุม Online
วันที่จัดการประชุม 12 มิ.ย. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ จำนวน 150 คน
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 1.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
การพิจารณาเลือกหรือปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยเพื่อให้ได้ระดับยาในเลือดที่เหมาะสมมีความสำคัญในการใช้ยา แม้ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับยาในขนาดที่เท่ากัน อาจจะมีระดับยาในเลือดรวมถึงการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของระดับยาในเลือดและการตอบสนองต่อยาเกิดจากความ ผันแปรทางเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์ระหว่างบุคคล (inter-individual variability in pharmacokinetics/pharmacodynamics) และความผันแปรภายในบุคคล (intra-individual variability)
โดยทั่วไป การให้ขนาดยาแก่ผู้ป่วยแต่ละราย จะทำในลักษณะ “one-dose-fits-all” ซึ่งเป็นการให้ยาในขนาดที่เท่ากันแก่ผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นเนื่องจากความผันแปรทางเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์ทำให้การตอบสนองต่อยาแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย หากเป็นยามี therapeutic index แคบอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดความล้มเหลวในการรักษาจากการมีระดับยาในเลือดที่ต่ำเกินหรือเกิดพิษจากการมีระดับยาในเลือดที่สูงเกิน ดังนั้นการปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความสำคัญเพื่อให้ได้ผลในการรักษาสูงสุด ในอดีตที่ผ่านมามีการนำการตรวจติดตามระดับยาในเลือด (Therapeutic drug monitoring) มาใช้เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และในปัจจุบันมีการนำหลักการ Model-Informed Precision Dosing Medicine (MIPD) มาใช้เป็นแนวทางการให้ยาแบบเฉพาะบุคคล ที่ใช้ข้อมูลแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) และเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamics) รวมถึงปัจจัยทางคลินิก เช่น อายุ น้ำหนัก โรคประจำตัว รวมถึงข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วย เพื่อกำหนดขนาดยาให้เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ระดับยาในเลือดที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผันแปรทางเภสัชจลนศาสตร์/เภสัชพลศาสตร์สูง เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยวิกฤต ทารกแรกเกิด หรือผู้สูงอายุ

MIPD เป็นการนำแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์ประชากร (Population pharmacokinetics) มาใช้ร่วมกับหลักการของเบย์ (Bayesian’s theorem) เพื่อทำนาย Maximum a posteriori Bayesian (MAP) ของค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งค่า Bayesian estimation ที่ได้สามารถนำมาใช้ในการปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยรายนั้น ๆ ได้ ซึ่งสามารถนำ MIPD มาประยุกต์ใช้สำหรับยาที่ต้องการการปรับขนาดอย่างแม่นยำ ได้แก่ ยากลุ่มที่มีช่วงความปลอดภัยแคบ (Narrow Therapeutic Index Drugs) เช่น Vancomycin, Aminoglycosides, Digoxin และยาเคมีบำบัด เป็นต้น รวมถึงปรับขนาดยาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผันแปรทางเภสัชจลนศาสตร์สูง เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยวิกฤต เป็นต้น การนำ MIPD มาช่วยในการพิจารณาขนาดยาที่เหมาะสมสามารถลดอัตราการเกิดพิษจากยา ป้องกันความล้มเหลวของการรักษา ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในระยะยาว นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการแพทย์เฉพาะบุคคล (Precision Medicine) และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการใช้ยาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจหลักการ MIPD และการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ
2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจหลักการของแบบจำลองเภสัชจลนศาสตร์ประชากรและหลักการของเบย์
คำสำคัญ
Model-Informed Precision Dosing (MIPD)