ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จะส่ง sms และ email แจ้งเตือนสมาชิกผู้ที่มีหน่วยกิตไม่ครบเกณฑ์ ครั้งต่อไปในวันที่ 11 มิถุนายน 2568

การประชุมวิชาการ
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรเครือข่ายด้านยา ในการประเมินข้อมูลด้านเอกสารกำกับยา และหลักเกณฑ์ด้านยา ประจำปีงบประมาณ 2568
ชื่อการประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรเครือข่ายด้านยา ในการประเมินข้อมูลด้านเอกสารกำกับยา และหลักเกณฑ์ด้านยา ประจำปีงบประมาณ 2568
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รหัสกิจกรรม 1004-2-000-012-04-2568
สถานที่จัดการประชุม โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันที่จัดการประชุม 29 เม.ย. 2568 - 01 พ.ค. 2568
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มเป้าหมาย 1. คณาจารย์ เภสัชกร และบุคลากรสายสนับสนุนภายในคณะเภสัชศาสตร์
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 10.5 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
ตามพันธกิจนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 เกี่ยวกับการพัฒนาระบบควบคุมกำกับยาทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพเป็นสากล บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาล และชุมชน รวมทั้งภาคเกษตรกรรม โดยมียุทธศาสตร์พัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน (Patient Information Leaflet : PIL) เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้ยา โดยมุ่งเสนอข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยต้องปฏิบัติอย่างไร และข้อมูลยาต้องมีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูล โดยผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี ข้อมูลที่นำเสนอต้องถูกต้องชัดเจนเหมาะสมแก่ผู้ป่วย จัดวางในตำแหน่งที่ผู้ป่วยหาพบได้ง่าย และสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยกระบวนการทดสอบเอกสารกำกับยา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน และเป็นขั้นตอนการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารกำกับยามีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค หรือผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกแนวทางการจัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน (Guideline for Development of Patient Information Leaflet: PIL) โดยผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมและผ่านการทดสอบการนำไปใช้ และมุ่งหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา และใช้ในการจัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ประโยชน์จากเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนคือ ผู้ป่วยหรือผู้บริโภค จึงควรทดสอบประสิทธิภาพการให้ข้อมูลของข้อมูลยากับผู้บริโภค (user-testing) ตามความเหมาะสม
ในการนี้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำและทดสอบเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน (PIL) เพื่อให้คณาจารย์ เภสัชกร และบุคลากรที่สนใจ ได้ทราบและเข้าใจที่มาและความสำคัญ รวมถึงแนวทางการจัดทำ และทดสอบเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการบริการจัดทำ และทดสอบเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนในอนาคต
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม ทราบและเข้าใจที่มาและความสำคัญ รวมถึงแนวทางการจัดทำ และทดสอบเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน
2. สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการบริการจัดทำ และทดสอบเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนในอนาคต
คำสำคัญ
ประชุมเชิงปฏิบัติการ, เอกสารกำกับยา, PIL