การประชุมวิชาการ
โครงการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รอบที่ 3)
ชื่อการประชุม โครงการหลักสูตร Non Degree ภายใต้เรื่อง การฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รอบที่ 3)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รหัสกิจกรรม 1010-2-000-003-01-2567
สถานที่จัดการประชุม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
วันที่จัดการประชุม 01 ก.พ. 2567 - 31 พ.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเป้าหมาย เภสัชกรที่สนใจ 4 คนต่อปี
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 30 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
โรคติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศไทย
เมื่อปี ค.ศ. 2017 องค์การอนามัยโลก รายงานการเกิดโรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ทั้งสิ้น 36.9 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งสิ้น 439,610 คน ในปี ค.ศ. 2016 พบผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกจำนวน 10.4 ล้านคน และพบผู้ป่วยในประเทศปีละ 120,000 คน ซึ่งประเทศไทย เป็น 1 ใน 14 ประเทศทั่วโลกที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติโรคติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรค ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งทางสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมรณรงค์การลดเอดส์ให้เหลือศูนย์ (Triple Zero) เช่นกัน รวมทั้งสำนักวัณโรคกรมควบคุมโรคเองก็ได้ประกาศ “ถึงเวลายุติปัญหาวัณโรค (It’s Time to Zero TB)” ดังนั้น เภสัชกรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีส่วนช่วยในการยุติปัญหาการเกิดโรคติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคนั้น จึงควรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมวางแผนการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยกับทีมสหสาขาวิชาชีพรวมถึงการติดตามการใช้ยา ทั้งในด้านประสิทธิผล และการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากยา ช่วยประเมินและติดตามความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ผลจากการรักษาสูงที่สุดเพื่อนำไปสู่การป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นในที่สุด
จากปัญหาในปัจจุบันยังขาดแคลนเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคทั้งในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน ประกอบกับเภสัชกรทั่วไปที่ทำงานยังไม่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอในการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรค ทำให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคยังมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมจากเภสัชกรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาศักยภาพและทักษะสำหรับเภสัชกรในการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในโรคและยาที่ใช้ทางโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับที่มสหสาขาวิชาชีพที่ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคใน ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ แพทย์เฉพาะทางทรวงอก แพทย์ทั่วไป พยาบาลเฉพาะทาง หรือเภสัชกร ในการส่งต่อข้อมูล การดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศูนย์ สู่โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลชุมชน หรือการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการบริบาลทางเภสัชกรรมระยะสั้น สาขาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคขึ้น
ในปัจจุบัน ประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ในประเทศไทยมีเพียง 1 ที่เท่านั้น ซึ่งจัดการอบรมโดยสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล มีแหล่งฝึกปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และโรงพยาบาลชัยภูมิ ดังนั้นจึงได้จัดทำประกาศนียบัตรวิชาชีพเภสัชกรรม (สาขาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค) Certificate in Pharmacy (HIV and TB)โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การรับรองของวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ตามประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 77/2563 เรื่อง รับรองหลักสูตรระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรม
(หลักสูตรที่ 1) ลงวันที่ 24 สิงหาคม2563 เพื่อที่จะพัฒนาทักษะของเภสัชกรที่ปฏิบัติงาน และเพิ่มความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์และวัณโรค ให้กับเภสัชกรในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้การดูแลด้านยาแก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาด้วยยาที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีการเรียนการสอนในหลักสูตรประกอบด้วยการเรียนรู้ภาคทฤษฎีจากอาจารย์และเภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมและเภสัชบำบัดในโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคในภาคปฏิบัติมีการเรียนรู้การปฏิบัติงานทั้งการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค แบบผู้ป่วยนอก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ อภิปรายกรณีศึกษาร่วมกับอาจารย์ เภสัชกรประจำแหล่งฝึก ทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านยา สารสนเทศด้านยา ข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค การพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ เพื่อที่จะให้เภสัชกรผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถในการริเริ่ม พัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ภายในองค์กร เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
วัตถุประสงค์
1. เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจยาที่ใช้รักษาในโรคติดเชื้อเอชไอวีวัณโรคและ
โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบได้บ่อย ได้แก่ กลไกการออกฤทธิ์ ขนาดยา อาการไม่พึงประสงค์
การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา และการติดตามการรักษา
2. เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคและโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อย
3. เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะในการให้คำแนะนำด้านยาและส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค
4. เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมมีแนวคิดในการทำวิจัยด้านการใช้ยาในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค
และสามารถประเมินวรรณกรรมปฐมภูมิที่เกี่ยวข้องได้
5. เภสัชกรที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถค้นหาปัญหาการใช้ยา วางแผนติดตาม ป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาได้
6. เภสัชกรได้ฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมบริบาลผู้ป่วยนอกโรคติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค
ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
คำสำคัญ
HIV and TB Pharmaceutical care