การประชุมวิชาการ
การประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ประจำปี 2567 (ครั้งที่ 39) 39th International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences (IAMPS39)
ชื่อการประชุม การประชุมวิจัยนานาชาติทางเภสัชศาสตร์ประจำปี 2567 (ครั้งที่ 39) 39th International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences (IAMPS39)
สถาบันหลัก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รหัสกิจกรรม 1001-2-000-020-03-2567
สถานที่จัดการประชุม ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร (โรงแรมอมารี ประตูน้ำ)
วันที่จัดการประชุม 19 -20 มี.ค. 2567
ผู้จัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มเป้าหมาย
หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 3 หน่วยกิต
หลักการและเหตุผล
หลักการและเหตุผล
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการประชุมเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ในสาขาเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นงานประชุมที่จัดโดยคณะเภสัชศาสตร์ที่ยาวนานที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทั่วประเทศ มีการส่งผลงานทางเภสัชศาสตร์ทุกสาขาวิชาเพื่อเผยแพร่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี งานประชุมวิจัยประจำปีของคณะฯ เป็นเวทีวิชาการที่เปิดโอกาสให้กับ คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษาทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์และสาขา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่สนใจทุกท่านจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเองให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสรับทราบ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์วิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ในปีนี้การประชุมจะจัดขึ้นในรูปแบบการประชุมระดับนานาชาติซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยไทยแล้ว ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยไทยกับนักวิจัยต่างประเทศด้วย ถือเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของนักวิจัยไทยและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย
การประชุมวิจัยประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 39 นี้ คาดว่าจะมีคณาจารย์ นักวิจัย นิสิตบัณฑิตศึกษา เข้าร่วมจากคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคณะและสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยการประชุมจะประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ การนำเสนอผลงานวิจัยจากนักวิจัยรับเชิญที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
การเสนอผลงานในรูปแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์ (Oral and Poster presentation) โดยครอบคลุมเนื้อหาดังนี้
1.Pharmaceutical Chemistry and Natural Products
2.Biopharmaceutical Sciences
3.Pharmaceutical Technology and Cosmetic Sciences
4.Clinical and Social/ Administrative Pharmacy
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวงที่กว้างขึ้น ผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้นำเสนอในงานประชุมวิชาการนี้ จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวบรวมบทความวิจัย (proceedings) โดยที่ต้นฉบับจะมี2 รูปแบบ คือ 1) บทคัดย่อ ความยาว 1 หน้ากระดาษ A4 ตามรูปแบบที่กำหนด หรือ 2) บทคัดย่อร่วมกับบทความฉบับสมบูรณ์ (abstract and full paper) ความยาว 5 หน้ากระดาษ A4 (รวมบทคัดย่อ) ตามรูปแบบที่กำหนด โดยผลงานทุกเรื่องที่จะนำเสนอนั้นจะมีคณะกรรมการพิจารณาความถูกต้องและความเหมาะสมทางวิชาการของผลงาน (peer review) ก่อนการตีพิมพ์ นอกจากนี้ในงานประชุมจะมีการมอบรางวัล “เภสัชกร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. วิเชียร จีรวงส์” สำหรับผลงานวิจัยดีเด่นด้านสมุนไพร และมีการมอบรางวัล Nagai Award Thailand 2023 (ครั้งที่ 25) ให้กับผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นระดับนานาชาติในวารสารที่ยอมรับในวงวิชาการ โดย Professor Tsuneji Nagai ประธาน Nagai Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนรางวัลนี้ ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติและทรงคุณค่าทางการวิจัย และจัดเป็นรางวัลที่นักวิจัยรู้จักมาที่สุดรางวัลหนึ่งในสาขาเภสัชศาสตร์ โดย Professor Tsuneji Nagai จะเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้แก่นักวิจัยชาวไทยด้วยตนเองรวมจำนวน 3 รางวัล ดังนี้
1.รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่นสาขา Pharmacy Practice/ Social and Administrative Pharmacy รวมจำนวน 1 รางวัล
2.รางวัลผลงานวิจัยตีพิมพ์ดีเด่น สาขา Pharmaceutical Sciences รวมจำนวน 2 รางวัล
การประชุมวิจัยประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 39 นี้ จะจัดร่วมกับงานประชุมและนิทรรศการนวัตกรรมเภสัชศาสตร์นานาชาติ ประจำปี 2567 (The 39th International Annual Meeting in Pharmaceutical Sciences (IAMPS39) และ International Conference and Pharmaceutical Innovation Exhibition 2024) เพื่อสร้างเครื่องข่ายนักวิจัย (international linkage) ภายใต้หัวข้อ “Healthcare Innovation for the Better Future” โดยมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยของคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ให้นักวิจัยไทยและนักวิจัยต่างชาติ และมีกิจกรรมการนำเสนอโครงการนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ที่มีการจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของคณาจารย์และนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น มีการประกวดนวัตกรรมและพิธีมอบรางวัลแก่โครงการนวัตกรรมดีเด่นระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้จริง นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการประชุมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในระหว่างคณาจารย์จากสองสถาบัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์วิจัยและส่งเสริมความร่วมมือในงานวิจัยระหว่างนักวิจัยชาวไทยและนักวิจัยชาวญี่ปุ่น เพื่อเป็นสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างนักวิจัยชาวไทยและนักวิจัยต่างชาติอย่างเป็นรูปธรรม

วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม
2.เพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกรทุกสาขาวิชา คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นผู้นำทางวิชาการของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
3.เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยชาวไทยได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับนักวิจัยด้านเภสัชศาตร์และวิทยาการที่ทันสมัยของต่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย ในระหว่างบุคคลต่อบุคคลต่อไปในอนาคต
คำสำคัญ
วิธีสมัครการประชุม
การสมัครเข้าร่วมงานประชุม 1.สมัครเข้าร่วมงานประชุมทางออนไลน์ที่เว็ปไซต์ 2.ผู้สมัครเข้าร่วมประชุมและเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบปากเปล่าหรือโปสเตอร์ ส่งต้นฉบับเป็นบทคัดย่อ (abstract) หรือ บทคัดย่อร่วมกับบทความฉบับสมบูรณ์ (abstract and full paper) ความยาว 5 หน้ากระดาษ A4 (รวมบทคัดย่อ) ในรูปไฟล์ Words ตามรูปแบบที่กำหนด ภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 3.ผู้สมัครขอรับรางวัล Nagai Award Thailand 2023 ส่งประวัติส่วนตัว (current CV) และต้นฉบับผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 (ส่งทาง research@pharm.chula.ac.th) หมายเหตุ: 1. ผู้สมัครหนึ่งคนสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 เรื่อง 2. คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณารางวัลซ้ำแก่ผู้ที่เคยได้รับรางวัล Nagai มาแล้ว ผู้สมัครขอรับรางวัล ศ (พิเศษ) ภก.ดร.วิเชียร จีรวงษ์ ส่งประวัติส่วนตัว (current CV) และต้นฉบับผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ภายในวันศุกร์ที่22 มกราคม 2567 (ส่งทาง research@pharm.chula.ac.th) หมายเหตุ: 1. ผู้สมัครหนึ่งคนสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 เรื่อง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1.คุณพัชรินทร์ สิทธิชาญคุณะ ฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ด้านการนำเสนอผลงานวิจัย) โทรศัพท์: 0-2218-8455 หรือ 0891219300; E-mail: phatcharin.c@chula.ac.th 2.หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง (ด้านการลงทะเบียน/ใบเสร็จรับเงิน) โทรศัพท์: 0-2218-8283; E-mail: iamps39@pharm.chula.ac.th