พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง เรื่อง การส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรในร้านยา (16 กันยายน 2556)

บันทึกข้อตกลง (MOU)

 เรื่อง การส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรในร้านยา

ระหว่าง

สภาเภสัชกรรม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย

สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย)
สมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชอุตสาหกรรม (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)

ชมรมเภสัชกรสี่เหล่า

มูลนิธิเภสัชชนบท

ชมรมเภสัชชนบท

ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด

ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย

          บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ทำขึ้น ณ  ที่ประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม สืบเนื่องจากปัญหาการไม่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาตลอดเวลาที่เปิดทำการ เป็นปัญหาวิชาชีพที่สะสมมาอย่างยาวนาน จากการตรวจสอบร้านยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในปี ๒๕๔๙  พบเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะตรวจประมาณร้อยละ ๓๓   และจากผลการสำรวจโครงการผู้บริโภคปลอดภัย เภสัชกรไทยไม่แขวนป้ายใน ๑๐ จังหวัด (ร้านยาสีขาว) ปี ๒๕๕๔  พบร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาที่เปิดทำการร้อยละ  ๗๖.๔  ส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิที่ต้องได้รับการส่งมอบยาและคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกร  เกิดปัญหาความเสี่ยงต่อการได้รับยาที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาการบริโภคยาเกินความจำเป็น  เป็นช่องทางการลักลอบจำหน่ายยา ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการจำหน่าย การโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น อาหาร  เครื่องสำอาง ฯลฯ ที่ผิดกฎหมาย   ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนปัญหาไม่พบเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในร้านยา หรือ พบการจำหน่าย โฆษณาขายยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก นอกจากนี้การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ร้านยา นับเป็นบทบาทวิชาชีพของเภสัชกรที่ควรส่งเสริมให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมให้ร้านยาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ และเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ 

            การส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยาดังกล่าว จึงมีความซับซ้อนเกี่ยวพันทั้งมิติของเภสัชกร เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค บริบทแวดล้อมอีกมากมาย ยากแก่การที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะดำเนินการจัดการปัญหานี้ได้โดยลำพัง จึงต้องรวมพลังองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรให้มีพันธะสัญญาร่วมกันในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นอุดมการณ์ร่วมกัน คือ

          “….การไม่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาตามที่กฎหมายกำหนด หรือ ไม่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยอมรับไม่ได้  เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมจึงต้องร่วมกันส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ การมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ของตน
ในร้านยาตามที่กฎหมายยากำหนด โดยหากไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้จัดหาเภสัชกรไปปฏิบัติหน้าที่แทน และมีการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยาตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและความผาสุกของประชาชน”

          ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพของเภสัชกรในร้านยาให้บรรลุผลตามเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่าง ๆ จึงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้น โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือดังนี้

                   ข้อ ๑ ขอบเขตความร่วมมือ

                 ขอบเขตการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้มี  ๖ ด้าน ดังนี้

                   ๑.๑  การแก้ไข ปรับปรุง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพของเภสัชกรในร้านยา
                            ให้เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
                     ๑.๒  การเฝ้าระวัง และส่งเสริมให้สมาชิกขององค์กรปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาตามกฎหมาย
                          อย่างเคร่งครัด
                     ๑.๓  การพัฒนากลไกเชิงระบบในการกำกับ ดูแล หรือเอื้อต่อการไปปฏิบัติหน้าที่ของเภสัชกร
                     ๑.๔  รณรงค์สร้างสำนึกรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานของวิชาชีพ
                            ทั้งในกลุ่มเภสัชกรและนิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์
                     ๑.๕  ความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างจริงจัง
                            โดยใช้มาตรการที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพและเป็นขั้นตอน

                   ๑.๖  การส่งเสริม “แบบอย่างที่เหมาะสม” ของผู้นำทางวิชาชีพฯ เช่น ผู้นำองค์กรวิชาชีพ
                         ครูอาจารย์เภสัชกร เภสัชกรผู้บังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ

                   ข้อ ๒ ระบบและกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงฯ

          ๒.๑  สภาเภสัชกรรมจัดให้มีคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อส่งเสริมการ
                           ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรในร้านยา โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
                           ๑)  นายกสภาเภสัชกรรม เป็นประธานคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ
                              โดยตำแหน่ง
                           ๒)  ผู้แทนขององค์กรที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ องค์กรละ ๑ ท่าน
                           ๓)  ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน ๓ ท่าน
                           ๔)  เลขานุการจากการเลือกตั้งกันเองของคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ
                           ๕)  ผู้ช่วยเลขานุการ  ๒ คน ตามที่คณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ เห็นชอบ
                   ๒.๒  การประชุมของคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ ในข้อ  ๒.๑
                         ต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และให้
                            จัดประชุมต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างน้อย ๒ เดือนต่อครั้ง
                   ๒.๓  บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ
                            ๑)  จัดให้มีแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน
                            ๒)  กำกับติดตามประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ
                            ๓)  ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                                 ตามความเหมาะสม
                            ๔) รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อสาธารณะ ในรูปแบบที่เหมาะสม
                                อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง

                   ข้อ ๓  ข้อขัดข้องที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติ

                   ในกรณีมีข้อขัดข้องหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงนี้
ให้คณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ ได้พิจารณาและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน

                   ข้อ ๔ กำหนดระยะเวลา

                   บันทึกข้อตกลงนี้ ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้เป็นต้นไป  โดยสามารถทบทวนบันทึกข้อตกลงได้ทุก ๓ ปี

                   ข้อ ๕ การแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลง

                   องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงได้ โดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมฯ  การแก้ไขให้จัดทำเป็นหนังสือโดยให้ถือว่าหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงนี้บันทึกข้อตกลงนี้ทำขึ้น   ๑๗   ฉบับ   ลงนาม ณ วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๖   และมีข้อความถูกต้องตรงกัน  ทุกฝ่ายได้อ่านแล้วเห็นว่าเป็นไปตามเจตนา จึงลงลายมือไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานและให้เก็บรักษาฝ่ายละ ๑ ฉบับ

 

ลงนาม 

สภาเภสัชกรรม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย

สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชอุตสาหกรรม (ประเทศไทย)

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)

ชมรมเภสัชกรสี่เหล่า

มูลนิธิเภสัชชนบท

ชมรมเภสัชชนบท

ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัด

ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย

 

รายละเอียดดังไฟล์บันทึกข้อตกลงแนบท้ายนี้